ผู้แบกรับภาระแทนอีก 7 ชีวิตในครอบครัว ได้เรียนหนังสือแค่ป.6 แล้วต้องออกจากโรงเรียน มาช่วยพ่อขายผักหลังจากแม่ตายจากครรภ์ที่คลอดยาก ด้วยเหตุที่ไม่มีเงินมัดจำ หมอจึงไม่ยอมลงมือผ่าตัด ทำให้เมื่อก่อนเธอเกลียดโรงพยาบาลมาก
เริ่มเป็นแม่ค้าตั้งแต่อายุ 13 ปี ทำงานหนักวันละ 19 ชั่วโมง จนลายนิ้วมือลบหาย และเท้าบิดเบี้ยวทั้งสองข้าง เธอกินข้าววันละ 1 มื้อ (มังสวิรัติ) ใช้เงินวันละไม่ถึง 30- 50 บาทต่อวัน แต่บริจาคเงินไปแล้วกว่า 10 ล้าน เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ ความบันเทิงเพียงอย่างเดียวของเธอคือการฟังธรรมะ
มีคนถามเธอว่าทำใจได้อย่างไรที่เงินหามาอย่างยากลำบาก แล้วเอาไปให้คนอื่นฟรีๆ เธอตอบว่า " การที่เราฝากเงินในธนาคาร เพราะหวังดอกเบี้ยเพื่อให้เงินงอกขึ้น ฉันก็แค่คิดว่าถอนเงินจากธนาคารหนึ่ง มาฝากอีกธนาคารหนึ่งเป็นการฝากเงินเหมือนกัน แต่ได้ดอกเบี้ยเป็นความสุข
เรื่องราวของอาม่าเฉิน ซู่จวี๋ จุดชนวนให้สังคมทั่วไปให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น และชี้ชัดว่าอะไรบางอย่างในสังคมไต้หวันยังคงต้องการความร่วมกันอยู่ ความประหยัดมัธยัสต์ ความเมตตาธรรม ความเรียบง่าย และการเอาใจใส่กลุ่มผู้อ่อนแอ แน่นอนว่าเป็นคุณค่าที่ดำรงอยู่ตลอดกาลในสังคมไต้หวัน แต่มันได้สูญหายไปเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปท่ามกลางการแก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กัน
เฉินซู่จวี๋ รางวัลจากนิตยสาร Time ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลก รางวัลนี้ยังไม่นับรวมกับรางวัลอื่นๆ เช่น รางวัลแมกไซไซ รางวัลบุคคลแห่งปี 2010 ของเอเชียจากนิตยสาร Reader’s Digest และ 1 ใน 48 นักบุญยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2010
ปัจจุบันแม่ค้าขายผักธรรมดาๆแต่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกแล้วคนนี้ กำลังรวบรวมเงินจากผู้ที่ศรัทธาในผลงานของเธอ ก่อตั้งเป็น "มูลนิธิเฉินซู่จวี๋" เพื่อเป็นองค์กรช่วยเหลือสังคมอย่างเป็นทางการแบบถาวรต่อไป และการที่มีผู้แปลเรื่องของเฉินซู่จวี๋ จากต้นฉบับภาษาจีน ออกสู่ภาษาไทย น่าจะทำให้ชื่อเสียงของเธอแพร่หลายยิ่งขึ้นในในหมู่คนอ่านชาวไทย และช่วยให้มูลนิธิเฉินซู่จวี๋เติบโตเป็นปึกแผ่น เพื่อช่วยสังคมได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย เมื่อผมอ่านต้นฉบับภาษาไทยจบ ผมสรุปได้ว่า แม่ค้าขายผักคนนี้ เธอมีความโดดเด่นที่สุดในเรื่อง "วิธีคิด" และ "วิธีหาความสุข" ที่อาจไม่ค่อยเหมือนคนไทย แต่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเลียนแบบเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขอย่างยั่งยืน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับคนไทยทุกเพศทุกวัย อย่างแท้จริง
-- ดำรง พุฒตาล